

ป่าชายเลน (Mangrove forest) เป็นระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ หลายชนิดดำรงชีวิตร่วมกันกับสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย และน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น มักพบป่าชายเลนปรากฎอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำหรืออ่าว พันธุ์ไม้ที่มีมากและมีบทบาทสำคัญที่สุดในป่าชายเลน คือป่าโกงกาง ป่าชายเลนจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ป่าโกงกาง
ป่าชายเลนในบริเวณสวนประวัติศาสตร์ฯ คือสังคมพืชและสัตว์ที่เกิดอยู่ริมคลองวง ซึ่งเป็นคลองที่ไหลลงทะเลสาบสงขลา และได้รับอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงจากทะเลสาบที่เชื่อมต่อกับทะเลน้ำเค็ม ทำให้คลองวงในบริเวณนี้มีสภาพน้ำกร่อย จึงเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ อีกทั้งในป่าชายเลนยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงสัตว์อื่นๆ อีกนานับชนิด
ความสำคัญและประโยชน์ของป่าชายเลน
ด้านสิ่งแวดล้อม
- เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งที่อยู่อาศัย การสืบพันธุ์ วางไข่และหลบภัยของสัตว์้น้ำ สัตว์บก
- เป็นแหล่งธาตุอาหารของพืช สัตว์ และอินทรียวัตถุที่มีความสำัคัญ
- เป็นแหล่งเก็บกักตะกอนและกลั่นกรองความสกปรกที่มาจากพื้นที่บกและถูกพัดมาจากน้ำทะเล
- ช่วยลดความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการธรรมชาติ
- ช่วยป้องกันการทำลายของชายฝั่งและช่วยให้เกิดแผ่นดินงอกขึ้น
ด้านสังคมและการศึกษา
- ช่วยค้ำจุนวิถีชีวิตตามธรรมชาติของสังคมชนบทไทย ที่พึ่งพาป่าชายเลน เช่น การทำประมงพื้นบ้าน
- เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนซึ่งได้รับประโยชน์จากการจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร
- เป็นแหล่งสมุนไพรและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
- เป็นแหล่งค้นคว้าและให้ความรู้เรื่องพืช สัตว์ มนุษย์ นิเวศวิทยา และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ด้านเศรษฐกิจ
- ให้ผลผลิตทางด้านประมง ได้แก่ สัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลากะพง ปลากระบอก ปูดำ ปูทะเล หอยแคลง หอยนางรม
- เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น การเลี้ยงหอยแคลง การเลี้ยงหอยแมลงภู่ หอยนางรม การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปลากะพง ปลาเก๋า
- สร้างรายได้จากการเผาถ่านและการเก็บของป่า เช่น ลูกจาก ใบจาก
- ลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันชายฝั่งมิให้พังทลายและถูกกัดเซาะโดยรากไม้ป่าชายเลน
- สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุัรักษ์
...............................................................................................................