

หนอนริบบิ้น (Ribbon worm) ลำตัวแบนเรียวยาวคล้ายคลึงกับหนอนตัวแบน ร่างกายไม่มี ปล้อง มีท่อทางเดินอาหารครบจากปากสู่ทวารหนัก และมีงวงที่ยืดหดได้ทางด้านหน้า ลำตัวสีแดงเพราะมีระบบหมุนเวียนโลหิตฝังตัวอาศัยอยู่ในดินโคลนบริเวณป่าชายเลน
แม่เพรียง (Polychaete Worm) หนอนปล้องที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนมีระยางค์เป็นคู่ช่วยในการวายน้ำ ในช่วงฤดูหนาวที่น้ำทะเลขึ้นสูง แม่เพรียงจะว่ายน้ำออกมาที่ผิวทะเลเพื่อผสมพันธุ์ โดยตัวผู้และตัวเมียปล่อยเซลล์สืบพันธุ์จำนวนมากออกไปผสมกันในน้ำทะเลได้ตัวอ่อนที่ดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนชั่วคราว ส่วนพ่อแม่พันธุ์มักถูกปลาทะเลจับกินเป็นอาหาร
ปูเปี้ยวก้ามขาว (Uca perplexa) บริเวณชายหาดโคลนปนทราย ริมป่าชายเลน จะเป็นที่อยู่อาศัยของปูเปี้ยวหรือปูก้ามดาบ ซึ่งมีก้ามข้างหนึ่งขนาดใหญ่ใช้โบกพัดแสดงความเป็ฯเจ้าของอาณาเขตของตน ตามปกติปูก้ามดาบจะขุดรู และออกมาจากรูหาอาหารช่วงเวลาน้ำลง และฝังตัวอยู่ในรูเมื่อน้ำทะเลขึ้น
ปูเปี้ยวปากคีบ (Uca forcipata) ปูก้ามดาบอีกชนิดหนึ่ง มีกระดองสีดำก้ามสีน้ำตาลอมม่วง ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่เป็นดินโคลน แยกจากกลุ่มของปูเปี้ยวก้ามขาว ทั้งนี้เป็นการลดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างปูประเภทเดียวกัน
ปูเปี้ยวขาแดง (Uca tetragonon) ปูก้ามดาบชนิดที่มีกระดองสีฟ้าแต้มด้วยจุดดำ ตรงมุมกระดองมีสีเหลือง ขาเดินมีสีส้มแดง ตัวเมียมีก้ามขนาดเล็กทั้งสองข้างเช่นเดียวกับปูก้ามดาบทั่วไป พบอาศัยอยู่ตามหาดโคลนใกล้แนวป่าชายเลนทางฝั่งทะเลอันดามัน
ปูแสมก้ามแดง (Chiromanthes eumolpe) ปูแสมขนาดกลาง กระดองกว้างประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยม ก้ามสีแดงขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนหรือริมคันนาน้ำเค็ม กินเศษอินทรีย์ต่างๆ เป็นอาหาร พบชุกชุมและมีการแพร่กระจายทั่วไป
ปูแสม หรือปูเค็ม (Sesarma mederi) กระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปกคลุมด้วยขนสั้นก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงสีบานเย็นอมม่วงขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นป่าชายเลนที่เป็นดินโคลน กินเศษอินทรีย์และใบไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร ปูชนิดนี้เองที่ถูกจับนำมาดองเป็นปูเค็ม
ปูแสมก้ามยาว (Metaplax elegan) ปูแสมชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปูก้ามดาบ โดยมีก้ามขนาดยาวใหญ่ ส่วนขาเดินเรียวเล็ก ขุดรูอาศัยอยู่ตามหาดโคลนริมแนวป่าชายเลนปะปนกับปูก้ามดาบกระดองมีความกว้างประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ก้ามมีสีส้มแดง
ปูทะเล (Scylla serrata) ปูขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่อาจมีน้ำหนักมากกว่าครึ่งกิโลกรัม กระดองพื้นผิวเรียบเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะอุ้มตัวเมียไว้รอจนกว่าตัวเมียจะลอกคราบ แล้วจึงผสมพันธุ์ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะถูกปล่อยออกมาอุ้งไว้ที่หน้าท้องจนกระทั่งฟักออกไปเป็นตัวอ่อน ดำรงชีวิตเป็นแพลงค์ตอนชั่วคราว
กุ้งเคย (Acetes) ครัสเตเชียนขนาดเล็กรูปร่างคล้ายกุ้งแต่ดำรงชีวิตอยู่ใกล้ผิวทะเลโดยไม่จมลงคลานตามพื้นอย่างกุ้งทั่วไป ขนาดยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร เปลือกบางและนิ่ม อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามชายทะเลและลำคลองบริเวณป่าชายเลน