

รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๘ โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
รัฐบุรุษของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันมีพระบรมราชโองการโปรดเกบ้าฯ ยกย่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๑ ในมีพลตรี ชาติชาย ชุณหะวัน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
องคมนตรี คือผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งแรกใช้คำเรียกว่า ปรีวีเคานท์ซิล หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ ซึ่งมีจำนวนมากน้อยเท่าใด ไม่มีกำหนด ตามแต่พระราชประสงค์ และอยู่ในตำแหน่งไปจนสิ้นรัชกาล หรือมีการผลัดเปลี่ยนตามแต่ทรงเห็นสมควร ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ได้มีประกาศแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยอภิรัฐมนตรีมีหน้าที่ทั้งเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะเดียวกัน ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ ได้บัญญัติถึงบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีไว้ดังนี้
“พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรี คนหนึ่ง และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้” นับเป็นการวางพื้นฐานบทบาท และหน้าที่ขององคมนตรีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คณะองคมนตรีในปัจจุบัน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคน หนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน ๑๘ คน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี (มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง) การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี หรือการให้องคมนครีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง)
องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น ต้องไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ (มาตรา ๑๔) ก่อนรับหน้าที่องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์