

พิธีส่งมอบหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ ๒
ขณะที่สถานการณ์ภัยคอมมิวนิสต์ในภาคอีสานเริ่มคลี่คลาย ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ พลโท เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่ ๒ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกอัตราพลเอก “เมื่อไปอยู่กับชาวอีสาน พอเราเริ่มทำงานแล้ว เราเริ่มได้รับความร่วมมือ มีความเข้าใจกันแล้วเราก็มีความผูกพันกัน ดังนั้นผมจึงรักคนอีสานมาก เพราเขาเป็นคนที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และเขาก็รู้ว่าเขาเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ...ก็รู้สึกเสียดายว่าถ้าอยู่ต่อไปก็คงมีโอกาสได้ช่วยเหลือชาวบ้านชาวเมือง ได้มากยิ่งขึ้น” พ.ศ.๒๕๒๑ เมื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ขอความร่วมมือจากแม่ทัพภาคทุกคน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ตามแนวทางที่กองทัพภาคที่ ๒ ได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพราะเมื่อเหตุการณ์ด้านอีสานเริ่มสงบ ความรุนแรงก็ไปปรากฏที่อื่น โดยเฉพาะในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ ๔ (ภาคใต้) ซึ่งมีขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) และโจรคอมมิวนิสต์มลายู (จคม.) เคลื่อนไหวอยู่ ทุกกองทัพได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามจนได้ผลดีมาโดยลำดับ พ.ศ. ๒๕๒๓ หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอยู่ด้วย ในวันที่ ๒๓ เมษายน ปีเดียวกัน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้นโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ อันเป็นนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์โดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ขณะเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ นโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ นี้ เป็นปฏิบัติการหลังจากการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายประสบผลสำเร็จแล้ว เพื่อขยายผลการทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับผู้หลงผิดในลัทธิ คอมมิวนิสต์ งานด้านนี้ได้รับการขยายผลอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่มีประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ.๒๕๒๑ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๑ เป็นต้นมา โดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติกลางได้กำหนดเรื่องหลักการฝึกอบรม และการจัดตั้ง ทสปช. เพื่อให้การปฏิบัติของศูนย์ ทสปช. ทุกระดับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการเปิดฝึกอบรม และการฝึกทบทวน ช่วยให้งานฝึกมวลชนขยายออกทุกภาค สำหรับ โครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (โครงการ อพป.) ที่ศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง กอ.รมน. รับผิดชอบดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ และจะสิ้นสุดลงในปี ๒๕๒๔ นั้น รัฐสภาได้ตราเป็นพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกัน ตนเอง พ.ศ. ๒๕๒๒ และในระยะที่ ๒ จะได้จัดเข้าอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ.๒๕๒๔ – ๒๕๒๗) ซึ่งกำหนดจะจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน อพป. ขึ้นในพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคงในเขต ๕๐ จังหวัด รวม ๔,๐๐๐ หมู่บ้าน ผลสำเร็จของโครงการ อพป. จะช่วยทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นหนทางนำไปสู่การยุติสถานการณ์ปฎิวัติของคอมมิวนิสต์ในที่สุด กองทัพบกได้จัดโครงการทหารกองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติอย่างเป็นระบบ โดยมอบหมายให้กองทัพภาค กับจังหวัดทหารบก รับผิดชอบดำเนินการและประสานขอรับการสนับสนุนจากส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง มีการจัดฝึกอบรมราษฎรในแต่ละพื้นที่ เมื่อสำเร็จการฝึก ให้ดำเนินการจัดตั้ง องค์กรทหารกองหนุน เพื่อความมั่นคงของชาติ ระดับหมู่บ้านขึ้น และพิจารณาจัดตั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดต่อไป การจัดตั้งโครงการทหารกองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ นี้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับแนวคิดมาจากระบบการควบคุมทหารกองหนุนของต่างประเทศ โดยเฉพาะอิสราเอล ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการป้องกันประเทศแล้ว ยังเป็นพื้นฐานในการรวมพลังเพื่อพัฒนาหมู่บ้านที่สำคัญอีกด้วย ทหารพราน หรือนักรบประชาชน ถือกำเนิดเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๑ เป็นกองกำลังของกองทัพบกและของชาติหน่วยหนึ่ง ได้มาจากราษฎรในท้องถิ่น ซึ่งสมัครใจที่จะเข้ารับการฝึกอบรมเช่นเดียวกับมวลชนประเภทอื่น จัดเป็นกำลังกึ่งทหาร เป็นหน่วยรบนอกแบบ มีทหารประจำการเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ ดำเนินการจัดตั้งหน่วยทหารพราน และฝึกการอบรม กิจการทหารพรานในช่วงพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง โดยมีพลตรี ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้รับผิดชอบ