

ชีวิตในวัยเด็ก
ความรักและความหวังดี กอรปกับการปฎิบัติตนเป็นแบบอย่างอันดีงามของบิดาและมารดาเป็นวิถีอันประเสริฐสุดที่หล่อหลอมให้ลูกมีจิตสำนึกใฝ่ดี และสิ่งนั้นคือ ก้าวแรกที่มั่นคงของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “ ติณสูลานนท์ ” ให้รองอำมาตย์โท ขุนวินิจ ทัณฑกรรม (บึ้ง) พธำมะรงค์ จังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ถือศักดินา ๖๐๐ ไร่
พระมหาเวก ทยฺยสุวณฺโณ วัดชนะสงคราม ได้อธิบายความหมายของนามสกุลว่า ‘ ติณสูล ’ แปลว่า ของมีคม เช่น หลาว หอก ดาบ ‘ นนท์ ’ แปลว่า ความเบิกบาน ความยินดี
“ ติณสูลานนท์ ” แปลว่า ความยินดีในของมีคม อันเป็นเครื่องมือสำหรับพธำมะรงค์ (พัศดี) ในการป้องกันปราบปรามมิให้นักโทษก่อความวุ่นวาย ซึ่งอาจจะหมายถึง ความยินดีในการปฎิบัติหน้าที่พธำมะรงค์ หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร ซึ่งอัญเชิญมาประดิษฐานในมงคลเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ครั้งนั้น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (ครอบคลุมพื้นที่เมืองสงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระ แงะ รามัณห์ สายบุรี และหนองจิก) ได้จัดงานมงคลเฉลิมฉลองพร้อมทั้งปรึกษากับพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ดำริจะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองสงขลา โดยใช้เงินส่วนหนึ่งจากการเรี่ยไรจัดสร้าง ในการนี้ ได้พร้อมใจกันขนานนามโรงเรียนว่า“มหาวชิราวุธ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
ล่วงมาถึง พ.ศ.๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้นำความกราบบังคมทูลเรื่องการใช้พระบรมนามาภิไธยของพระองค์ท่านเป็นนามโรงเรียนโดยยังมิได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามโรงเรียนนี้ว่า “มหาวชิราวุธ” ต่อไปตามเดิม ในโอกาสนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโรงเรียนด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างเหลือล้น และเป็นเกียรติยศอย่างสูงแก่เหล่าคณาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ