สถิติผู้เข้าชมเว็บตั้ง 23 พฤศจิกายน  2553
real time web stats

ประวัติความเป็นมา

เมื่อปี ๒๕๒๗ ฯพณฯ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  นายกรัฐมนตรี คนที่ ๑๖ ได้ดำริให้สร้างสะพาน ติณสูลานนท์ เชื่อมเกาะยอกับผืนแผ่นดินใหญ่ฝั่งอำเภอเมืองสงขลาและอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ท่ามกลางความชื่นชมศรัทธาของชาวเกาะยอ ชาวสงขลา และประชาชนโดยทั่วไป

ต่อมาในปี  ๒๕๓๖ สภาตำบลเกาะยอ และพระกิตติมงคลพิพัฒน์ (หลวงพ่อจ้อย) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับประชาชนชาวจังหวัดสงขลา โดยความเห็นชอบของสภาตำบลและสภาท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดสงขลา  พร้อมใจกันเสนอแนวคิดที่สร้างรูปเหมือน ฯพณฯ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ขึ้น เสมือนเป็นแบบหรือสัญลักษณ์ของปูชนียบุคคลแห่งความซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในการกระทำคุณความดี โดยกำหนดที่ตั้งรูปเหมือน ณ สวนป๋าเปรม เชิงสะพานติณสูลานนท์ หมู่ที่ ๒ ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พร้อมกับการสร้างอาคารเอนกประสงค์  และการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์รองรับ  โดยเห็นพ้องต้องกันให้ตั้งชื่อโครงการว่า  "สวนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์"

 

 

 

๑. การก่อสร้าง

เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ การสร้างอาคารเอนกประสงค์ได้เริ่มขึ้นโดยฯพณฯ บรรหาร  ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ ได้กรุณาให้เกียรติเป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ จากนั้นการสร้างสวน พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ก็ดำเนินไปด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนชาวสงขลา และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป

 

๒. เปิดตัวสู่สาธารณชน

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑ สวนพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เปิดตัวสู่ความชื่นชมของสาธารณชนครั้งแรกในการประกอบพิธีลงนามในข้อตกลงสัญญาซื้่อขายก๊าซธรรมชาติในแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย ระหว่างรัฐบาลไทย โดยฯพณฯ นายชวน  หลีกภัย นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยและรัฐบาลมาเลเซียโดย ฯพณฯ ดาต๊ะ ดร.ศรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน

วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๓ ประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยพระสาสโสภณเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร เจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (ธรรมยุต) ผู้ปฏิบัติภารกิจแทน เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน

๓. พื้นที่สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ สงขลา

สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ สงขลา มีพื้นที่ ๑๕๐ ไร่(รวมพื้นที่ศูนย์บ่มเพาะคนดี)  ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานติณสูลานนท์  หมู่ที่ ๒  ตำ่บลพะวง  อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา  แบ่งพื้นที่ตามรูปแบบของการใช้ประโยชน์เป็น ๓ ส่วนด้วยกัน คือ

บริเวณที่ ๑ (Zone 1)

ประกอบด้วยหอประวัติ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  รูปเหมือน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อเชิดชูเกียรติคุณความดีของ ฯพณฯ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

 

 

บริเวณที่ ๒ (Zon 2)

ประกอบด้วย สวนสาธารณะ ประติมากรรมกลางแจ้ง สวนพฤกษศาสตร์ สวนตาลโตนด แหล่งน้ำกลางสวน เวทีเปิด อัฒจันทร์ธรรมชาติ  ลานวัฒนธรรมกลางแจ้ง  ศูนย์จำหน่ายเครื่องดื่ม  อาคารบริการท่าเทียบเรือ และศูนย์บริการท่องเที่ยวทางน้ำ

 

บริเวณที่ ๓ (Zone 3)

ประกอบด้วย ศูนย์บริการการเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน มีสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติชีวภาพป่าชายเลน (Walk way) ความยาว ๘๐๐ เมตร มีศาลานิทรรศการ ๔ ศาลาเพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนมีลานพักแรม (Camping) สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ตลอดจนศูนย์ฝึกอบรม (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาค ๑๑) อาคารบ้านพักพนักงานและเรือนเพาะชำ

 

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการยึดหลัก ๕ ส คือ

๑. สุขภาพ ส่งเสริมการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ กำหนดเป็นเขตปลอดบุหรี่และเครื่่องดื่มแอลกอฮอล์

๒. สะอาด เน้นความสะอาด ส่งเสริมสุขลักษณะที่ดี

๓. สร้างบรรยากาศ ส่งเสริมและสร้างบรรยากาศให้มีความสงบร่มเย็น เป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย

๔. สวยงาม จัดบริเวณทั่วไปให้มีความสวยงาม มีเสน่ห์ สร้างความประทับใจ

๕. สิ่งแวดล้อม  เน้นการจัดการเพื่อส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ทั่วไป